วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558

'เอสเอ็มอีแบงก์' ให้กู้ดอกเบี้ย 4%

นาย สุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เตรียมแผนปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในอัตรา 4% ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งทำให้เอสเอ็มอีต้องการสินเชื่อเพิ่มเติม โดยอยู่ระหว่างหารือกับทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พิจารณาอุดหนุนส่วนต่างดอกเบี้ยให้ 3%ทั้งนี้การช่วยเหลือเอสเอ็ม อี เป็นนโยบายสำคัญของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความ ยากจน ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ซึ่งจากการประชุม 5 มี.ค. มีมติให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เป็นเจ้าภาพในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี

ในส่วนของเอสเอ็มอีแบงก์ก็จะ สนับสนุนทางด้านสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี เดิมทีจะใช้เงินจากสำนักงานกองทุนประกันสังคม 1 หมื่นล้านบาท แต่ติดเงื่อนไข และกลไกหลายอย่าง จึงเปลี่ยนมาใช้เงินทุนของเอสเอ็มอีแบงก์แทน เพิ่มวงเงินเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 4% แล้วให้รัฐบาลเป็นผู้อุดหนุนส่วนต่างดอกเบี้ยให้เอสเอ็มอีแบงก์อีก 3% ซึ่งทั้งเอสเอ็มอีแบงก์ และสสว.จะเสนอแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้คสช.พิจารณาในวันอังคารหน้า ก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

เขากล่าว ต่อว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของธนาคารในช่วงเดือนก.พ.ออกมาดีกว่าเดือนม.ค. ที่มีการปล่อยสินเชื่อ 1พันราย วงเงิน 1.93 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 98 ล้านบาท โดยคาดว่าภายในไตรมาสแรก หรือสิ้นมี.ค.นี้ ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อได้ 8 พันล้านบาท และรักษาระดับการปล่อยสินเชื่อใหม่นี้ได้ในช่วงไตรมาสที่เหลือปี หรือสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 4 หมื่นล้านบาทได้

“ธนาคารยังคงปล่อยสินเชื่อใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง ยิ่งในช่วงเดือนมี.ค.นี้สินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.ถึง 1.5 เท่า ทำให้ภาพรวมไตรมาสนี้ สินเชื่อใหม่น่าจะได้ถึง 8 พันล้านบาท ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น นับจากเดือน ส.ค.ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน สัดส่วนเอ็นพีแอลของสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 0.04% ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดที่กำหนดให้เอ็นพีแอลของธนาคารต้องไม่เกิน 5%”

ด้าน นางสาลินี วังตาล ประธานเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ธนาคารได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้กับสมาชิกของสมาพันธ์ ที่มีกว่า 90 องค์กร และร่วมกันคัดกรองสมาชิกเพื่อให้กระบวนการปล่อยสินเชื่อรวดเร็วขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเอสเอ็มอีมีความต้องการเงินทุนเพื่อเป็นสภาพคล่องในการ ดำเนินธุรกิจ ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ค่อยดี การค้าขายก็ไม่คล่องตัว

โดย การให้สินเชื่อเอสเอ็มอี ก็เป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินงาน และภาครัฐก็ให้การสนับสนุน เพื่อให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยในช่วงที่มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4% ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ธนาคารก็จะให้สินเชื่อในอัตราปกติไปก่อน และเชื่อว่าผู้ประกอบการต่างๆ ยังคงมีความต้องการกู้ปกติ ไม่ได้รอดอกเบี้ยต่ำ เพราะผู้ประกอบการต้องการเงินเร็ว


ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น