วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

ยึดคืนที่รัฐตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษลงตัว เปิดทางเอกชนเช่าไร่ละแสนต่อปี





จัด สรรที่ดินรัฐรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ชง "บิ๊กตู่" ใช้อำนาจพิเศษสั่งเพิกถอนที่สาธารณประโยชน์-ที่ดิน ส.ป.ก.-พื้นที่ป่าไม้ ให้กรมธนารักษ์ ทุ่ม 7.3 พันล้านบาทผุดนิคมอุตฯ-ศูนย์โลจิสติกส์-พาณิชยกรรมรองรับ ลอตแรก 4.6 พันไร่ เปิดทางเอกชนเช่า 1-1.4 แสนบาท/ไร่/ปี

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะการจัดหาที่ดินรัฐรองรับการจัดตั้งโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม แก้ไขปัญหาการปั่นราคาเก็งกำไรที่ดิน ล่าสุด ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ ซึ่งมีตนเป็นประธาน ได้หารือกับหน่วยงานซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลที่ดินของรัฐ อาทิ กรมธนารักษ์ กรมป่าไม้ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมพัฒนาที่ดิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมที่ดิน ฯลฯ สามารถรวบรวมที่ดินรัฐได้รวม 2.4 หมื่นไร่ ในจำนวนนี้ได้จัดสรรที่ดินบางส่วนรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก เรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกันเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรวด เร็ว และให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่สามารถส่งมอบที่ดินให้กรมธนารักษ์นำไปจัดให้ เอกชนเช่าใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอกระบวนการออกกฎหมายเพิกถอนที่ดินของรัฐ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลารวมแล้วกว่า 400 วัน อาทิ การเพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์ พื้นที่ป่าไม้ ฯลฯ จะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 ที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. ใช้อำนาจสั่งการให้เจ้าของพื้นที่ส่งมอบพื้นที่ที่ดินของรัฐที่ยังติดปัญหา ให้กรมธนารักษ์ดูแลได้ทันที เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและการบริหารราชการแผ่นดิน

แหล่งข่าวจาก ทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก 4,684 ไร่ ที่ กนอ.กำหนดพื้นที่และรูปแบบจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม มูลค่าการลงทุน 7,339 ล้านบาท ประกอบด้วย1.จ.สงขลา ต.สำนักขาม อ.สะเดา พื้นที่ 1,097.61 ไร่ เป็นที่ดินเอกชนอยู่ระหว่างยึดทรัพย์ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอก เงิน (ปปง.) ห่างชายแดนด่านสะเดา 2 กม. ห่างสำนักงานด่านศุลกากรสะเดา 500 เมตร ติดที่ตั้งด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ และถนนกาญจนวนิชย์ ปัจจุบันใช้ประโยชน์เพื่ออยู่อาศัย และเป็นสวนยางพารา มีแหล่งน้ำใกล้พื้นที่ ระบบไฟฟ้าเข้าถึง

กำหนดประเภทอุตสาหกรรมเป้า หมาย คือ การให้บริการโลจิสติกส์ ศูนย์ขนถ่ายสินค้าและคลังสินค้า อุตสาหกรรมยางพาราและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องกับยางพารา อุตฯอาหารฮาลาล แปรรูปสินค้าเกษตร และอื่น ๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ประโยชน์ที่ดิน พื้นที่รวม 1,097.61 ไร่ แยกเป็น 1.พื้นที่ก่อให้เกิดรายได้ 817.79 ไร่ มีเขตอุตสาหกรรม 533.75 ไร่ ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า 234.21 ไร่ และเขตพาณิชยกรรม 29.83 ไร่ 2.พื้นที่ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก 231.35 ไร่ 3.พื้นที่สีเขียว แนวกันชน 68.47 ไร่ มูลค่าลงทุนรวมค่าที่ดิน 1,944 ล้านบาท ต้นทุนเฉลี่ยกว่า 1.77 ล้านบาท/ไร่ อัตราค่าเช่า 142,283 บาท/ไร่/ปี

2.จ.ตราด ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ พื้นที่ 411.10 ไร่ เป็นพื้นที่ นสล.ในความดูแลของ อบต.ไม้รูด ห่างจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก 30 กม. ห่างท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ที่กำลังก่อสร้าง 12 กม. ห่างตัวเมืองตราด 63 กม. ห่างถนนสุขุมวิท 0.5 กม. ปัจจุบันบางส่วนใช้เป็นที่ทิ้งขยะ ประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมาย การบริการโลจิสติกส์ ศูนย์ถ่ายเปลี่ยนสินค้าและยานพาหนะคลังสินค้า กิจการเพื่อสนับสนุนบริการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ บริการฟื้นฟูสุขภาพและบริการอื่น ๆ ที่ไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม การใช้ประโยชน์ที่ดิน 411.10 ไร่ แยกเป็น 1.พื้นที่ที่ก่อให้เกิดรายได้ 268.39 ไร่ เป็นเขตอุตฯทั้งหมด 2.พื้นที่ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก 107.32 ไร่ 3.พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 35.39 ไร่ มูลค่าพัฒนารวมค่าที่ดิน 658 ล้านบาท ต้นทุนเฉลี่ย 1.6 ล้านบาท/ไร่ ค่าเช่า 128,563 บาท/ไร่/ปี

3.จ.ตาก ต.แม่ปะ อ.แม่สอด 1,421 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ห่างจากทางหลวง AH1 และแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก 7 กม. ห่างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ แห่งที่ 1 ประมาณ 8 กม. ติดพื้นที่ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ แห่งที่ 2 อุตฯเป้า หมาย คือ การให้บริการโลจิสติกส์ ได้แก่ คลังสินค้า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและยานพาหนะ อุตฯใช้แรงงานเข้มข้น ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องเรือนจากไม้แปรรูป และแปรรูปสินค้าเกษตร อุตฯชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ และอื่น ๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

การใช้ประโยชน์ที่ดิน พื้นที่รวม 1,421 ไร่ แยกเป็น 1.พื้นที่ก่อให้เกิดรายได้ 1,143.23 ไร่ เป็นเขตอุตฯ 731.13 ไร่ ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า 384.60 ไร่ และเขตพาณิชยกรรม 27.50 ไร่ 2.พื้นที่ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก 240.39 ไร่ 3.พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 37.38 ไร่ มูลค่าลงทุนรวมค่าที่ดินกว่า 2,155 ล้านบาท ต้นทุนที่ดินเฉลี่ยกว่า 1.51 ล้านบาท/ไร่ ค่าเช่า 121,823 บาท/ไร่/ปี

4.จ.มุกดาหาร ต.คำอาฮวน อ.เมือง 1,085.64 ไร่ เป็นพื้นที่ นสล.ในความดูแลกรมธนารักษ์ ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรใช้ประโยชน์เป็นแปลงทดลองการปลูกพืช อยู่ติดถนนทางหลวง 3019 ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 ประมาณ 21 กม. ห่างจากทางหลวง 2042 และแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก 7 กม. อุตฯเป้าหมาย คือ การให้บริการโลจิสติกส์ ได้แก่ คลังสินค้า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและยานพาหนะ อุตฯแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ พลังงานทดแทน ยางพารา บริการฟื้นฟูสุขภาพ และกิจการอื่น ๆ ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

การใช้ประโยชน์ ที่ดิน 1,085.64 ไร่ แยกเป็น 1.พื้นที่ที่ก่อให้เกิดรายได้ 761.95 ไร่ มีเขตอุตฯ 509.94 ไร่ ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า 227.87 ไร่ และเขตพาณิชยกรรม 21.14 ไร่ 2.พื้นที่ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก 267.88 ไร่ 3.พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 55.81 ไร่ มูลค่าพัฒนารวมค่าที่ดิน 1,481 ล้านบาท ต้นทุนที่ดินเฉลี่ย 1.36 ล้านบาท/ไร่ ค่าเช่า 109,550 บาท/ไร่/ปี

5.จ.สระแก้ว ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ เป็นพื้นที่ นสล.ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย 690 ไร่ ติดถนนหมายเลข 3397 ห่างชุมชนอรัญประเทศและถนน 3397 ประมาณ 10 กม. ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก 14 กม. ห่างจากพรมแดนไทย-กัมพูชา 5 กม. ปัจจุบันใช้ประโยชน์เพื่อที่อยู่อาศัยและการเกษตร ได้แก่ ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพดประเภทอุตฯเป้าหมาย คือ การให้บริการโลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้า อุตฯแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม พลังงานทดแทน กิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและกิจการอื่น ๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ประโยชน์ที่ดิน 690 ไร่ แยกเป็น 1.พื้นที่ที่ก่อให้เกิดรายได้ 527.42 ไร่ เป็นเขตอุตฯ 337.02 ไร่ ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า 164.95 ไร่ และเขตพาณิชยกรรม 25.45 ไร่ 2.พื้นที่ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก 132.52 ไร่ 3.พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 30.06 ไร่ มูลค่าลงทุนรวมค่าที่ดิน 1,101 ล้านบาท ต้นทุนค่าที่ดินกว่า 1.59 ล้านบาท/ไร่ ค่าเช่า 128,239 บาท/ไร่/ปี




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น