วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

แอร์พอร์ตลิงก์วางแผนซื้อรถเพิ่ม-ขอเดินรถต่อขยายไปดอนเมือง

แอร์พอร์ตลิงก์ลุ้น ร.ฟ.ท.เร่งสรุปแยกทรัพย์สินแอร์พอร์ตลิงก์ เผยล่าสุดยังไม่คืบ “วุฒิชาติ” โยนอนุฯ กม.ดู “รักษาการซีอีโอ” เผยเตรียมแผนซื้อรถเพิ่มอีก 2 ล็อต 4 ขบวน รวม 11 ตู้ รวมกับของเดิม 9 ขบวน และที่อยู่ระหว่างจัดหา 4 ขบวน คาดรับผู้โดยสารได้ 1.4 แสนคน/วัน พร้อมเจรจาคมนาคมขอรับเดินรถส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-ดอนเมือง เพื่อเดินรถต่อเนื่อง ชี้ได้ประโยชน์มากกว่าเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP

นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ซีอีโอ) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแบ่งแยกทรัพย์สินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ว่า บริษัทได้ทำหนังสือถึง ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 9 มกราคม 58 รายงานถึงรูปแบบการดำเนินงานในอนาคต และคณะทำงานร่วมได้ประชุมเมื่อวันที่ 28 มกราคม 58 ล่าสุดนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าฯ ร ร.ฟ.ท.ส่งเรื่องให้อนุฯ ด้านกฎหมายพิจารณาก่อนนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. ที่มีนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ เป็นประธาน หลังจากนั้นจะต้องเสนอไปที่กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และซูเปอร์บอร์ด ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะ ซึ่งบริษัทอยากให้ ร.ฟ.ท.เร่งรัดการพิจารณา เนื่องจากการแยกทรัพย์สินจะทำให้การบริหารงานของแอร์พอร์ตลิงก์มีความคล่อง ตัวมากขึ้น สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และซ่อมบำรุงเองไม่ล่าช้าจนกระทบต่อการให้บริการ

ทั้งนี้ การแบ่งแยกทรัพย์สินนั้นจะโอนขบวนรถที่ใช้งานอยู่ปัจจุบัน (ชุดที่ 1) พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ จำนวน 9 ขบวน (รถไฟฟ้าด่วน หรือ Express Line 4 ขบวน รถไฟฟ้าธรรมดา หรือ City Line 5 ขบวน) มูลค่า 5,882.66 ล้านบาท จะทำให้บริษัทฯ มีทุนประมาณ 6,022.66 ล้านบาท และมีหนี้สิน 1,860 ล้านบาท ซึ่งมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 กันยายน 54 ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้นำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน (ยังไม่ได้ดำเนินการ) โดย ร.ฟ.ท.ยังคงเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐาน ราง รางวิ่ง และสถานี ที่ดิน ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้า ระบบโทรคมนาคม เครื่องจักรกล โรงซ่อม ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ระบบเช็กอิน ซึ่งหลังจากแบ่งแยกทรัพย์สินแล้ว บริษัทฯ จะรับผิดชอบการลงทุนใหม่เพิ่มเติม รับภาระค่าใช้จ่ายและบำรุงรักษาทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถ รับรู้รายได้เอง

โดยตามแผนหลังแบ่งแยกทรัพย์สิน บริษัทฯ จะรับผิดชอบเงินกู้ในการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าธรรมดา 4 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ (ชุดที่ 2) พร้อมอะไหล่ วงเงิน 4,854 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างจัดซื้อ โดยจะรองรับจากเดิมเฉลี่ย 45,000 คนต่อวัน เป็น 96,600 คนต่อวัน และคาดว่าจะรองรับไปจนถึงปี 2568 และจัดหารถไฟฟ้าเพิ่มเติมชุดที่ 3 เป็น City Lone แบบ 7 ตูั 3 ขบวน วงเงิน 4,582 ล้านบาท ในปี 59 และ Express Line แบบ 4 ตู้ 1 ขบวน วงเงิน 570 ล้านบาท ในปี 74 โดยอนาคตจะจัดรถบริการแบบขบวนละ 7 ตู้ คาดว่าจะรับโดยสารได้ 1.4 แสนคนต่อวัน มีรายได้ประมาณ 1,834 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งหากสามารถแบ่งแยกทรัพย์สินแล้วเสร็จภายในปี 58 และดำเนินการซื้อรถได้ตามแผน จะทำให้บริษัทฯ มีจุดคุ้มทุนในปี 62โดย Ebitda จะอยู่ที่ประมาณ 136 ล้านบาท

นายภากรณ์กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯ ได้ค่าจ้างเดินรถจาก ร.ฟ.ท. 380 ล้านบาทต่อปี โดยแอร์พอร์ตลิงก์มีรายได้ประมาณ 570 ล้านบาทต่อปีต้องส่งให้ ร.ฟ.ท.ทั้งหมด ส่วนค่าใช้จ่ายรวมมีประมาณ 900 ล้านบาท ทำให้ ร.ฟ.ท.ต้องรับภาระขาดทุนไปด้วย ในขณะที่แนวโน้มการเติบโตของผู้โดยสารและรายได้เพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 10% แต่ปัญหาคือ ขบวนรถให้บริการไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งหากสามารถจัดหารถมาได้เร็วจะทำให้โครงการประสบความสำเร็จแน่นอน ซึ่งบริษัทฯ ได้เสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อขอเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 21.8 กิโลเมตร เนื่องจากจะทำให้การเดินรถมีความต่อเนื่อง เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล และเชื่อมต่อ 3 สนามบินได้ในอนาคต

“ตอนนี้มีนโยบายเน้นเรื่องรูปแบบ PPP คือ รัฐและเอกชนลงทุนร่วมกัน (Public private Partnership) เพื่อให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในระบบรางเพื่อลดภาระภาครัฐ แต่แอร์พอร์ตลิงก์มีศักยภาพในการเดินรถเอง ซ่อมเองแล้ว จึงอยากให้พิจาณาเดินรถในส่วนต่อขยายด้วย ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากกว่า ส่วนรถไฟชานเมืองสายสีแดง ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต บริษัทเคยเสนอขอเดินรถ แต่ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.คนใหม่ปรับแนวคิดว่า ร.ฟ.ท.จะเดินรถเอง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น