วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2558

พื้นที่เฉพาะเขตศก. พิเศษตาก

เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นตามลำดับ สำหรับโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ  ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา เห็นชอบพื้นที่และร่างผังพื้นที่เฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 6 จังหวัดในระยะแรก ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1)เสนอ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 24,800 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ อาทิ ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่อยู่ในความดูแลของกรมที่ดิน ป่าเสื่อมโทรมของกรมป่าไม้ ที่ดินสปก.ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินเอกชนที่ถูกยึดทรัพย์จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) เป็นต้น  เพื่อออกคำสั่งเพิกถอนสถานภาพที่ดินและโอนเป็นที่ราชพัสดุให้กับกรมธนารักษ์ ดูแลให้เอกชนเช่าระยะยาวตามกฎหมายกระทรวงการคลังต่อไป ประกอบด้วยจังหวัดตาก มุกดาหาร ตราด สระแก้ว สงขลา และหนองคาย
หนึ่งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับความสนใจ และคาดว่าจะเป็นพื้นที่นำร่อง คือ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก ที่มีการขีดวงพื้นที่ไว้  14,858 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่อยู่ในความรับผิดชอบ ของกรมป่าไม้ ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าสายลวด และตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด ใกล้กับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ แห่งที่ 2 หรือสะพานเมย  2
การออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก  ซึ่งมีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ออกแบบวางผังพื้นที่ (ตามภาพผังประกอบ)ไฮไลต์อยู่ที่พื้นที่สีม่วงขอบชมพูหรือที่ดินประเภท อุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรม ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ เห็นชอบเป็นพื้นที่พัฒนาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมผลิตและแปรรูป ตั้งอยู่ในตำบลท่าสายลวดและตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จำนวน 2,639ไร่  เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลอดการบุกรุกจากชุมชน
ขณะเดียวกันก็มีการกำหนดพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่พาณิชยกรรม ที่จะเป็นย่านการค้า พื้นที่สีเหลือง หรือที่ดินประเภทอยู่อาศัยรวม  จะกำหนดให้เป็นพื้นที่ชุมชน ส่วนพื้นที่สีเขียว หรือที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมและพื้นที่สีเขียวทะแยงหรือเขียวลายจะ กำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งบางส่วนอาจจะให้คงเป็นพื้นที่ป่า บางส่วนจะเป็นพื้นที่เกษตร โดยจะให้เน้นท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะการใช้ที่ดินลักษณะผสมผสาน ส่วนพื้นที่สีน้ำเงินจะเป็นที่ดินประเภทราชการ อย่างไรก็ดี การใช้ที่ดินรัฐตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ก็เพื่อจูงใจนักลงทุนและแก้ปัญหาการปั่นราคาที่ดิน ซึ่งอัตราค่าเช่ากรมธนารักษ์จะกำหนดต่อไป
ส่วนโครงสร้างพื้นฐาน และด่านศุลกากร ที่ประชุมกนพ.ได้เห็นชอบในการดำเนินงานโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่สอด พร้อมสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 วงเงิน 3,900 ล้านบาท โดยเห็นชอบให้ใช้งบประมาณกลางปี 2538 วงเงิน 500 ล้านบาท ดำเนินการในระยะเริ่มต้น
ด้านมุมมองของเอกชนในพื้นที่ นายประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่านับเป็นเรื่องที่ดีที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก ที่อำเภอแม่สอด สามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดีอยากให้รัฐบาลมองเห็นความสำคัญของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่ควรสนับสนุนส่งเสริมก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะมุ่งเน้นให้นักลงทุนจากต่างถิ่นเข้ามาฉกฉวยโอกาสจากสิทธิประโยชน์ ที่จะได้รับ ที่สำคัญหัวใจสำคัญของจังหวัดตาก คือ การค้าชายแดนที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องของเขตอุตสาหกรรม

ผังพื้นที่เฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก  เป็นเพียง 1 ใน 6 ผังของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ  งานนี้ต้องติดตามต่อไปว่า การวางผังพื้นที่เฉพาะในพื้นที่อื่นจะมีหน้าตาอย่างไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,037  วันที่ 22- 25  มีนาคม  พ.ศ. 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น