วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

ชูยานนาวานำร่องพัฒนาริมน้ำ

มหาดไทยไฟเขียวกทม.เร่งพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นำร่องยานนาวาโมเดล ลงทุน 600 ล้าน ตามไอเดียของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ดึงภาครัฐ-เอกชนที่เป็นเจ้าของที่ดินริมน้ำ 7  รายร่วมเป็นภาคีพันธมิตร มีบริษัทอู่กรุงเทพ, คันทรี่กรุ๊ปฯ, กรมธนารักษ์, กรมทางหลวงชนบท, องค์การสะพานปลา วัดสุทธิฯ และวัดยานนาวา
ผศ.ดร.นิรมล  กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ตามที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้พัฒนาเส้นทางจักรยานครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาจราจร ตลอดจนให้เกิดการเชื่อมโยงชุมชนต่างๆ และแหล่งท่องเที่ยว ในส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) นั้นทางศูนย์ UDDC เสนอให้ดำเนินการพื้นที่ช่วงยานนาวาเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบให้กทม.รับไปเร่งดำเนินการจัดสรรงบประมาณแล้ว
โดยการดำเนินการครั้งนี้ทาง UDDC ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังและออกแบบซึ่งต่อมาได้รวมกลุ่มกันก่อตั้ง เป็น "คณะทำงานเฉพาะกิจการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ" นำเสนอโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำย่านยานนาวา ย่านประวัติศาสตร์สำคัญของกรุงเทพฯ ระยะทาง 1.2 กม. คาดว่าใช้เงินลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท โดยเป็นพื้นที่ในการครอบครองของ 8 กลุ่มทั้งภาครัฐ-เอกชนจำนวน 7 รายประกอบด้วย บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด บริษัท คันทรี่ กรุ๊ปดีเวลล็อปเมนท์ฯ  สำนักงานบริหารพื้นที่ราชพัสดุกรุงเทพ กรมธนารักษ์ กรมทางหลวงชนบท องค์การสะพานปลา วัดสุทธิวราราม วัดยานนาวา และกลุ่มเอกชนรายย่อย พร้อมกับเชิญ 8 โรงแรมชั้นนำริมแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดจนอีกหลายกลุ่มเข้ามาร่วมขับเคลื่อน โครงการดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
"คาดว่ากทม.จะเร่งผลักดันและเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2559 ส่วนรูปแบบนอกเหนือจากจะเป็นเส้นทางจักรยานแล้วยังเป็นลานเพื่อการพักผ่อน หย่อนใจ เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่อีกแห่งหนึ่งเพื่อจะพัฒนาให้เป็นพื้นที่กิจกรรมริม น้ำ  ปรับปรุงสวนสาธารณะให้ใช้งานได้อเนกประสงค์ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมและปรับเปลี่ยนการพัฒนาพื้นที่ในจุดต่างให้อย่างสอด คล้อง เช่นพื้นที่องค์การสะพานปลา อู่ต่อเรือกรุงเทพ ปรับปรุงการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ อาทิ ท่าเรือ ตรอก ซอกซอย"
ด้านดร.จุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า เรื่องนี้เห็นว่าจะสามารถใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาได้ดี กรณีนี้เป็นการริเริ่มของคนในพื้นที่และมีกลุ่มอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยช่วยขับเคลื่อน  ส่วนกรมเจ้าท่ายังมีแผนการพัฒนาท่าเรือต่างๆ ตามแผนปี 2558-2559 อยู่แล้วขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
"ส่วนประเด็นการสร้างล่วงล้ำลำน้ำนอกจากกรมเจ้าท่าจะดูเรื่องการอนุญาต โดยคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยในการเดินเรือเป็นหลักแล้ว หากผ่านที่ดินใคร เจ้าของต้องยินยอมด้วย  ทั้งนี้ทางกรมเคยช่วยดูแบบที่จะก่อสร้างและให้ความเห็นไปแล้ว  ส่วนในทางเทคนิค เขื่อนป้องกันในลักษณะนี้ เอกชนขออนุญาตเองโดยตรงไม่ได้ หน่วยงานของรัฐต้องเป็นเจ้าของโครงการและขออนุญาตจากเจ้าท่าเท่านั้น"
ด้านนายเดชา  ตั้งสิน  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม่น้ำ เรสซิเดนท์ จำกัด ผู้บริหารโครงการโรงแรมรามาดา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่ารับทราบแผนการพัฒนาโครงการมาอย่างต่อเนื่อง เห็นว่าจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปัจจุบันปัญหาการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำยังไม่ได้รับความสะดวก ซึ่งหากมีเส้นทางจักรยาน  หรือทางเดินเพื่อการพักผ่อนก็จะสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น ปัจจุบันเอกชนหลายรายดำเนินการก่อสร้างด้านหน้าโครงการบ้างแล้วสามารถเชื่อม โยงกับโครงการได้ทันที
"ปัจจุบันราคาประเมินที่ดินฝั่งพระนครยังคงสูงกว่าฝั่งธนบุรีเล็กน้อย ล่าสุดพื้นที่บริษัทน้ำดื่มชื่อดังย่านสะพานสาทรก็ขายได้ตารางเมตรละ 4.5 แสนบาท ส่วนฝั่งพระนครยังไม่มีราคาล่าสุดเพราะไม่มีพื้นที่แปลงใหญ่ให้ได้ขายอีก แล้ว  ขณะนี้เท่าที่สำรวจมีพื้นที่ของเอเชียทีคและของบริษัทแม่น้ำเท่านั้นที่ สามารถเชื่อมโยงกับถนนเจริญกรุงได้อย่างสะดวก"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,037  วันที่ 22- 25  มีนาคม  พ.ศ. 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น