วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558

รถไฟ ไทย-จีน

เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย เคยเป็นจำเลยทางการเมืองในการล้มรัฐบาลที่เป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ ว่าใช้เงินลงทุนสูง จะสร้างหนี้แก่คนในประเทศ ยังไม่ถึงเวลาจำเป็น และน่าจะพัฒนาถนนลูกรังก่อน
เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล 2 ประเทศ คือ ราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะจีนที่ต้องการขยายเส้นทางการค้าการคมนาคมเชื่อมเข้าสู่ภูมิภาคอา เซียน


ดังนั้นแม้การเมืองภายในประเทศจะเปลี่ยนหน้าเล่น แต่โครงการรถไฟความเร็วสูง ที่ถูกเรียกใหม่ว่า "กึ่งความเร็วสูง" เพราะให้ลดความเร็วลงเหลือเฉลี่ย 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ยังคงเดินหน้าต่อในรูปของความร่วมมือไทย-จีนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้น ฐานทางรถไฟของประเทศไทย ในการก่อสร้างรถไฟทางคู่มาตรฐาน ระยะทางรวม 867 กิโลเมตร (หนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด 734 กิโลเมตร และแก่งคอย-กรุงเทพฯ 133 กิโลเมตร) ด้วยวงเงินลงทุนประมาณ 3.9 แสนล้านบาท
แต่การเมืองในไทยซึ่งหมายถึงการทำลายคนทำงานก็ยังคงหาแง่มุมทำหน้าที่ของ มันต่อไป ดังนั้นก่อนหน้านี้จึงมีการเผยแพร่ข้อมูลออกมาแบบบิดเบือนว่า โครงการเกือบ 4 แสนล้านบาทนี้ ฝ่ายไทยมีแต่ขาดทุนเพราะฝ่ายจีนพยายามเอาเปรียบทุกด้าน เช่น จะให้ไทยกู้เงินจากธนาคารจีนในอัตราดอกเบี้ยสูง จีนจะขอดำเนินโครงการเองตั้งแต่ออกแบบ ก่อสร้าง จนถึงขั้นเดินรถ แถมยังบอกด้วยว่าจีนเรียกร้องสิทธิในการพัฒนาที่ดินสองข้างทางตลอดระยะทาง 873 กิโลเมตร
เพราะข้อเท็จจริงนั้น การระดมทุนเป็นสิทธิของรัฐบาลไทย  โดยเฉพาะรัฐบาล คสช. ต้องระมัดระวังเรื่องนี้มากว่าต้องไม่ก่อหนี้ให้ถูกโจมตีทางการเมือง ขณะที่โครงการนี้รัฐบาลจีนเป็นฝ่ายเสนอให้ 2 ฝ่ายร่วมมือด้วยรูปแบบ EPC (Engineering Procurement and Construction) คือ รัฐบาลไทยเป็นเจ้าของโครงการ รับผิดชอบจัดหาเงินทุน  ฝ่ายจีนรับเหมาก่อสร้างเสร็จแล้วมอบให้ฝ่ายไทยเดินรถ
ข้อมูลที่ถูกบิดเบือนนี้ฝ่ายจีนมีการชี้แจงออกมาว่า เรื่องการเรียกร้องสิทธิในการพัฒนาที่ดินสองข้างทางนั้น "จีนไม่เคยมีข้อเรียกร้องที่ไร้เหตุผลเช่นนี้มาก่อน และต่อไปก็จะไม่มีข้อเสนอนี้แน่นอน"
ข่าวล่าสุดนั้นจากการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีนในการพัฒนาโครงการนี้ มีข้อสรุปในเรื่องการเงินว่า ด้านการเวนคืนที่ดินจะใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ด้านการก่อสร้างจะใช้เงินกู้ภายในประเทศ โดยอาจจะออกพันธบัตรเงินกู้ในนามกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการลงทุนด้านระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ จะใช้เงินกู้จากจีน โดยจะเจรจาขออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 2% ระยะเวลาชำระคืน 25-30 ปี และขอปลอดดกอกเบี้ย 7-10 ปี
ที่เป็นข่าวดีคือเมื่อโครงการนี้อยู่ภายใต้รัฐบาล คสช. ที่เคลมเร็วทำเร็ว จึงไม่น่าจะสะดุดอย่างโครงการภายใต้รัฐบาลพลเรือน  หากเป็นไปตามแผนภายในสิ้นปีนี้จะเริ่มก่อสร้าง และภายในปี 2561 คนไทยก็จะได้นั่งรถไฟกึ่งความเร็วสูงกันแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,035  วันที่ 15 - 18  มีนาคม  พ.ศ. 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น