วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

B.O.Q.-Bill of Quantity

สืบเนื่องจากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมบังคับให้ธุรกิจรับสร้างบ้านและอาคารที่อยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ต้อง ถูกควบคุมตามข้อความในสัญญา โดยหัวใจหลักคือ "บี.โอ.คิว." หรือ B.O.Q.-Bill of Quantity หมายถึง บัญชีแจกแจงรายการ ปริมาณ ค่าวัสดุ ค่าแรง และค่าดำเนินการ เนื่องจากที่ผ่านมา สคบ.มีเรื่องร้องเรียนจากการผิดสัญญาการว่าจ้างรับสร้างบ้านจำนวนมาก และการที่สคบ.เล็งใช้ข้อบังคับดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการในแวดวงรับสร้างบ้านตื่นตัวอย่างมาก ซึ่งมีทั้งส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

**ทำความเข้าใจเรื่อง B.O.Q.
สำหรับกลุ่มผู้บริโภค เชื่อว่าหลายคนยังไม่มีความรู้และเข้าใจในเรื่องของ B.O.Q มากนัก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดเรื่องร้องเรียนอย่างที่ผ่านมา โดย B.O.Q. (Bill of Quantities) คือบัญชีแสดงปริมาณวัสดุ และปริมาณแรงงาน ประกอบกับราคาที่ใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งรายละเอียดจะประกอบด้วย ปริมาณวัสดุ ปริมาณแรงงาน ราคาต่อหน่วยของทั้งวัสดุและแรงงาน

ความสำคัญ B.O.Q คือใช้เป็นกลไกในการตรวจสอบราคา ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อประกอบสัญญาการรับเหมาก่อสร้างหรือเป็นเอกสารประกอบการ ประกวดราคา อีกความสำคัญหนึ่งสำหรับผู้ว่าจ้างคือ เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบราคา เพื่อหาผู้รับเหมาตามเงื่อนไขของราคาที่เหมาะสม รวมทั้งยังใช้เป็นข้อมูลตรวจสอบปริมาณงานที่ก่อสร้างจริงว่าเป็นไปตามจำนวน และคุณสมบัติที่ระบุไว้ในสัญญาหรือไม่ และหากมีส่วนขาดส่วนเกิน ข้อมูลนี้ก็จะใช้เป็นบรรทัดฐานในการคิดราคาต่อไป

**ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ B.O.Q. กับ บ.รับสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐาน
ปกติแล้วผู้บริโภคที่เลือกซื้อบ้านกับบริษัทรับสร้างบ้านมักจะได้ความสบาย ใจในเรื่องราคาที่ตกลงกันไว้ ซึ่งจะไม่มีการบวกเพิ่มในภายหลัง แต่รายการวัสดุที่เลือกใช้ในหนังสือสัญญาจะระบุแค่คร่าวๆ ซึ่งอาจไม่ได้ลงรายละเอียดว่าเลือกใช้ของแบรนด์อะไร ทำให้เมื่อถึงเวลาก่อสร้างและรับมอบงานมักจะเจอปัญหาเรื่องของวัสดุที่อาจจะ ดูเกรดต่ำกว่าที่คิดไว้ ทำให้มักเกิดปัญหาอยู่บ่อยๆ เพราะบริษัทรับสร้างบ้านไม่สามารถร้องเรียกเก็บเงินเพิ่มจากลูกค้าได้อีก ดังนั้นหากวัสดุไหนที่แพงเกินที่ประเมินเอาไว้ ทีมงานต้องทำการปรับลดสเปกของเพื่อให้ได้ต้นทุนเท่าเดิม เรียกได้ว่าผู้บริโภคที่ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ก็จะไม่ทราบวิธีของบริษัท รับสร้างบ้าน

**สถาปนิกก็ควรทำ B.O.Q.
หากพูดถึงแต่บริษัทรับสร้างบ้านอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะยังมีบริษัทออกแบบที่อยู่ในธุรกิจก่อสร้างเหมือนกัน ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการดีไซน์ใหม่ พร้อมฟังก์ชันกับความสวยงามในสไตล์ที่ตัวเองต้องการ โดยผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมในการเลือกประเภทวัสดุ ตั้งแต่ขั้นตอนดีไซน์

นางสาวสิริทร สิทธิวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด กลุ่มบริษัท จาร์เค็น จำกัด บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมภายใน และรับเหมาก่อสร้าง กล่าวว่า การทำ B.O.Q. ของบริษัทออกแบบเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะจะทำให้ลูกค้ารู้ก่อนว่าราคาประเมินเป็นเท่าไหร่ เกินงบที่ตัวเองกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งดีไซเนอร์ก็จะมีหน้าที่ในการปรับแบบจนเป็นที่พอใจของลูกค้าและอาจทำให้ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งระยะการทำ B.O.Q. อาจจะใช้เวลามากกว่าบริษัทรับสร้างบ้านเพราะรายละเอียดเยอะกว่า

**สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน แนะ สคบ. พิจารณาให้ดีก่อนบังคับใช้
นายวิสิฐษ์ โมไนยพงศ์ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า หากสคบ.มีการบังคับใช้ B.O.Q. จริงอาจทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้าน กลับเข้าสู่ยุคของผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่จะต้องมาแจงรายละเอียดในทุกขั้นตอน ส่งผลให้งานก่อสร้างล่าช้าไม่ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันก็มีการทำใบชี้แจงราคาและรายละเอียดของการก่อสร้างอยู่ แล้ว จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำ B.O.Q.

จากเหตุผลที่แต่ละฝ่ายเสนอก็มีเหตุผลแตกต่างกันไป ชวนให้ลุ้นว่าสคบ.จะมีความเห็นตามฝ่ายไหน?

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น